รัฐธรรมนูญ หลักคุณธรรมที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สำคัญไฉน ?
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุด เป็นกติกาใช้ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ในการบริหารประเทศชาติ และเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคนในประเทศ ดังนั้นตามหลักการประชาธิปไตย ต้องให้ประชาชนผู้ถูกปกครอง ได้เลือกตั้งผู้แทนของเขาด้วยเสียงข้างมาก เข้ามาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ จึงจะถูกต้อง เมื่อร่างเสร็จ ก็จะต้องนำมาทำประชาพิจารณ์ ลงมติอีกครั้งหนึ่ง ให้รับรองด้วยเสียงข้างมากก่อนจะประกาศใช้บังคับได้ เป็นไปตามกติกาสากลที่ทั่วโลกใช้กัน
การที่คสช. ตั้งคนของตนมายกร่าง ซึ่งไม่ใช่ผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ รัฐธรรมนูญนั้นก็ผิดกติกาสากลมาแต่แรกแล้ว จึงไม่ต้องดูเนื้อหาในการยกร่างใดๆทั้งสิ้น เพราะมีเจตนาจะกดขี่ประชาชนโดยอำนาจเผด็จการ
“ต้นไม้มีพิษ ผลไม้ลูกของมัน ก็ย่อมมีพิษภัยแน่นอน”
แนวคิดของหลักนิติธรรม “กฎบัตรแมกนาคาต้า” เป็นข้อตกลงตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 13 ระหว่างกษัตริย์อังกฤษกับเหล่าขุนนาง ที่ยังคงหลักนิติธรรมมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับหลักการเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น อันเป็นรากฐานของสังคมที่เจริญและเที่ยงธรรม
ในปัจจุบัน ทั่วโลกได้ใช้หลักนิติธรรมกันมาโดยตลอด ซึ่งทำให้มีการเปิดเสรีภาพทางความคิด และทำให้คนได้มีส่วนร่วม สร้างเศรษฐกิจโดยใช้ฐานความรู้ (Knowledge base) มาสร้างความเจริญให้มนุษยชาติ เคารพในความคิดริเริ่ม ในการคิดค้นสิ่งแปลกใหม่ ที่เป็นประโยชน์สูงสุด เป็นยุคของการขายสิทธิทางปัญญา อันมีมูลค่าสูง ยิ่งกว่าทรัพยากรธรรมชาติ
สำหรับเสรีภาพในการแสดงออกก็เช่นกัน ยอมให้มีการชุมนุมโดยสงบและเปิดเผย เสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ และเปิดเผยจึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องเคารพ ยอมรับ และนำไปทบทวน ปรับปรุง ซึ่งสรุปว่า คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
หากปราศจากสิทธิ์เหล่านี้แล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้รัฐบาล ผู้ปกครองมีความรับผิดชอบได้เพียงพอ อันเป็นสาเหตุทำให้ ประเทศต้องดำดิ่งลงไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวก และฉ้อราษฏร์บังหลวงได้ จนเป็นเหตุให้ชาติพินาศล่มจม เพราะขาดหลักคุณธรรม ที่เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ทั่วโลก จึงให้ความสำคัญของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนี้
จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ
เลขาธิการองค์การเสรีไทย เพื่อสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย
No comments:
Post a Comment